✤ วันพืชมงคล
“วันพืชมงคล” เป็นวันสำคัญที่กําหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสําคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย มีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประกอบด้วย 2 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัล
แรกนาขวัญ พระราชพิธีนี้กระทําที่ท้องสนามหลวง ซึ่งราชการกําหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกรและกําหนดให้เป็นวันหยุดราชการ วันพืชมงคลจะไม่ตรงกับวันเดิมตามสุริยคติหรือจันทรคติของทุกปี แต่สํานักพระราชวังจะเป็นผู้ประกาศวันพืชมงคลให้เป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคมของแต่ละปี
“พระราชพิธีพืชมงคล” เป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยและเจริญงอกงามดี โดยมีเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ ข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเหนียว ข้างฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น
“พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพิธีที่เริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งการประกอบพิธีแรกนาขวัญนี้เพื่อให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ ฤดูกาลแห่งการทำนา ทำไร่ และการเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องในวันพืชมงคลจะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวง ซึ่งมีการทำนายปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงโดยมีพระยาแรกนาจะทำหน้าที่เลือกผ้า 3 ผืนที่มีความยาวต่างขนาดกัน ถ้าพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุดก็ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อย ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุดก็จะทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก และถ้าเลือกผืนที่มีความยาวปานกลางทายว่า มีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ หลังจากนั้นพระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง ซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้ง 4 ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก โดยมีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวนพร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน เมื่อเสร็จจากการไถแล้วพระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำและเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ก็ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั่นเอง และเมื่อเสร็จพิธีแล้วประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครเก็บเมล็ดข้าวนี้ไว้ก็จะถือว่าได้เพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง สำหรับพระโคที่จะใช้ในงานพืชมงคลนั้นจะต้องถูกเลี้ยงดูอย่างดี และจะต้องมีลักษณะหูดี ตาดี แข็งแรง เขาของพระโคจะต้องตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียงสองสีเท่านั้น คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง และเจาะจงแต่เพศผู้เท่านั้น โดยต้องผ่านการ “ตอน” มาแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการข้าว กองเมล็ดพันธุ์ข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์